เสียงกรน คือ เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของลิ้นไก่และเพดานอ่อนขณะนอนหลับ ในเวลาที่เราหลับสนิทนั้นเนื้อเยื่อต่างๆ ในช่องคอโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นไก่และเพดานอ่อนจะคลายตัว บางคนคลายตัวมาก จนย้อยลงมาอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลมหายใจเข้าไม่สามารถไหลผ่านลงสู่หลอดลมและปอดได้โดยสะดวก กระแสลมหายใจที่ถูกปิดกั้นไหลผ่านในลำคอไปกระทบลิ้นไก่และเพดานอ่อนจนเกิดการสั่นมากกว่าปกติ ผลก็คือมีเสียงกรนตามมา
อายุที่มากขึ้น กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะหย่อนยานลงรวมทั้งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นไก่และลิ้นตกไปปิดทางเดินหายใจได้ง่าย
เพศชายมีโอกาสนอนกรนมากกว่าเพศหญิงเนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมน แต่เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนเพศหญิงมีโอกาสเป็นเท่ากับผู้ชาย
โรคอ้วน มีไขมันส่วนเกินไปสะสมในช่วงคอ เบียดช่องหายใจให้แคบลง
ดื่มสุราหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับซึ่งมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางส่งผลลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ขยายช่องหายใจ
การสูบบุหรี่ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลง ทำให้ช่องคอระคายเคือง มีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ทางเดินหายใจจึงตีบแคบลง เกิดการอุดตัน นอนกรนได้ง่าย
อาการคัดจมูกเรื้อรัง เช่น มีผนังกั้นจมูกคด เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ หรือเนื้องอกในจมูก
กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนอนกรนมากกว่าคนปกติ
ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางร่นไปด้านหลัง ลักษณะคอยาว กระดูกโหนกแก้มแบน
โรคที่มีความผิดปกติด้านฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroid) ทำให้เกิดทางเดิน หายใจอุดตันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
ไม่เป็นอันตราย (simple snoring) คนที่นอนกรนชนิดนี้ มักจะมีเสียงกรนสม่ำเสมอ ไม่มีหายใจสะดุด หรือเสียงฮุบอากาศ เสียงกรนมักดังมากโดยเฉพาะเวลานอนหงาย ความดังของเสียงกรนจึงไม่ได้บอกว่าอันตรายหรือไม่ เนื่องจากการกรนชนิดนี้ไม่มีภาวะขาดอากาศร่วมด้วยจึงยังไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากนักเว้นแต่ทำให้รบกวนคู่นอนได้
ชนิดอันตราย (snoring with obstructive sleep apnea) คนที่นอนกรนภาวะนี้มักจะกรนเสียงดังและมีอาการคล้ายสำลักหรือสะดุ้งตื่นกลางดึก ตื่นขึ้นมาด้วยอาการอ่อนเพลียไม่สดชื่นหรือปวดศีรษะ และต้องการนอนต่ออีกทั้งที่ใช้เวลานอน 7 – 8 ชม.แล้ว กลางวันบางคนอาจมีอาการง่วงนอนหลงลืม ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย ขี้โมโหรวมทั้งมีความรู้สึกทางเพศลดลง ซึ่งการนอนกรนชนิดนี้อาจนําไปสู่การหยุดหายใจขณะหลับได้
โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive Sleep Apnea (OSA) เกิดขึ้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้นเพราะสมองกําลังพักผ่อน ทําให้กล้ามเนื้อบริเวณนี้ทํางานน้อยลง ท่อทางเดินหายใจส่วนต้นก็จะฟีบเข้าหากันเหมือนการดูดหลอดกาแฟ ทําให้ออกซิเจนในเลือดต่ำเนื่องจากขาดอากาศหายใจ จึงต้องพยายามหายใจแรงขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจนี้ เมื่อสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นบ่อยๆ ทําให้หลับไม่ลึกและรู้สึกง่วงนอนตอนกลางวัน เพลียและไม่สดชื่นเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมา
แนวทางรักษาโรคนอนกรน
การผ่าตัด ร่วมกับการจัดฟัน รวมถึงการใส่เครื่องมือในช่องปาก เป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาอาการนอนกรน การใส่เครื่องมือในช่องปากปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดใด ๆ ค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าวิธีอื่น ใส่ได้ง่ายสบายทำให้ใส่ได้ตลอดทั้งคืน
ขั้นตอนการใส่เครื่องมือ
เครื่องมือชนิดนี้มีหลายแบบหลายรูปร่างแต่หลักการทำงานเหมือนกันคือ ยึดขากรรไกรล่างให้เคลื่อนมาข้างหน้าโคนลิ้นจะถูกดันออกมาด้วยทำให้ช่องคอเปิดออกและทำให้อากาศผ่านเข้าได้ง่ายขึ้น ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นและเสียงกรนเบาลง แต่ข้อเสียคือจะต้องนอนคาบเครื่องมือกันกรนทั้งคืน แต่เมื่อชินแล้วก็จะช่วยให้หลับสบายมากขึ้น ทำให้ร่างกายได้นอนเต็มอิ่มแบบไม่ต้องหยุดหายใจชั่วขณะอีกต่อไป ทั้งนี้อาจมีผลข้างเคียงจากการใส่เครื่องมือกันกรน เพราะถ้าหากยื่นขากรรไกรมากเกินไป ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อต่อขากรรไกร หรือกระทั่งมีอาการฟันไม่สบกันหลังจากถอดเครื่องมือกันนอนกรนได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ร้ายแรง
ฉะนั้นผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษากับทันตแพทย์เฉพาะทางที่เหมาะสมและต้องมาตรวจเครื่องมือกันกรนเป็นระยะอย่างเคร่งครัด การรักษาด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของอาการตั้งแต่น้อยถึง ปานกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการผ่าตัดจะมีความปลอดภัยกว่า ทำง่ายกว่า และที่สำคัญราคาถูกกว่า จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นใครที่รู้ตัวว่าเริ่มมีอาการเหล่านี้สามารถไปพบแพทย์ได้
การดูแลรักษาทำความสะอาดเหมือนฟันปลอมทั่วๆ ไป มีขั้นตอนดังนี้
ก่อนใส่เครื่องมือกันกรน ให้ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนๆ ขัดล้างกับน้ำสบู่หรือยาสีฟัน
ควรทำความสะอาดทุกครั้งก่อนและหลังใส่เครื่องมือกันกรน
ไม่เก็บเครื่องมือกันกรนในบริเวณที่มีความร้อน หรือแห้ง ไม่จำเป็นต้องแช่น้ำ แต่ให้มีความชื้นอยู่เสมอเพื่อไม่ให้วัสดุแห้งกรอบ
ห้ามใช้ผงขัดกับแปรงที่แข็งเกินไป
หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนทำความสะอาด เพราะจะทำให้เครื่องมือกันกรนบิดงอได้
ห้ามแช่ในน้ำยาบ้วนปาก หากต้องการทำความสะอาดให้แช่ในเม็ดฟู่แช่ฟันปลอมตามทันตแพทย์สั่ง
เครื่องมือกันกรนจะมีส่วนข้อต่อระหว่างบนและล่าง ซึ่งอาจเป็นพลาสติกหรือโลหะหรือยางแล้วแต่ระบบที่เลือกใช้ เวลาทำความสะอาดควรทำด้วยความนุ่มนวล
เมื่อใช้งานไปถ้าข้อยึดของเครื่องมือกันกรนได้รับความเสียหาย คดงอ ควรนำเครื่องมือกันกรนมาให้ทันตแพทย์ที่เป็นผู้ทำเครื่องมือให้แก่ผู้ป่วยทำการปรับแต่งในส่วนของเครื่องมือกันนอนกรน อีกทั้งเป็นการตรวจประเมินผลการรักษาด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน
nice post
gud post
w post
GOOD POST
ข้อมูลเชื่อถือได้ไหม