วิธีบริหารความคิดมาก ก่อนสภาพจิตใจย่ำแย่ป่วยโรควิตกกังวล


วิธีบริหารความคิดมาก ก่อนสภาพจิตใจย่ำแย่ป่วยโรควิตกกังวล

คิดมาก ภาวะที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ด้วยปัจจัยหลากหลายอย่างที่แต่ละคนเจอไม่เหมือนกัน แนะวิธีจัดการความคิดก่อนจิตใจป่วยหลายเป็นโรคทางจิตเวช

ภาวะคิดมาก หรือ Overthinking ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราเลยแม้แต่น้อย เพราะไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทำให้เกิดอาการคิดมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การงาน การใช้ชีวิต ความรักหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในแง่หนึ่งเรามักจดจำเรื่องร้ายๆมาเป็นบทเรียนให้กับตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเดิมๆขึ้นอีก ขณะที่ในเรื่องสภาพจิตใจที่มีความกลัวและวิตกกังวลต่อเรื่องที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจในอดีตรวมทั้งการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนดควบคุมโดยผู้ปกครองอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่แน่นอนหรือไม่แน่ใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองในอนาคต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เรื่องไม่ดีในอดีตมีผลต่อการกำหนดปัจจุบันและอนาคตในความคิดของคนที่ตกอยู่ในภาวะคิดมากนั่นเองปัญหาสำคัญของคนที่ตกอยู่ในภาวะคิดมากคือ การปล่อยให้ตัวเองครุ่นคิดทบทวนอยู่กับเรื่องเดิมๆที่ดึงขึ้นมาจากความทรงจำบนความรู้สึกเสียดาย ผิดหวัง เสียใจ มีความโกรธแค้นกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ผลที่ตามมาคือ สภาพจิตใจที่อ่อนล้าและเต็มไปด้วยความกลัว ความเศร้าเสียใจ ขาดความมั่นคงในจิตใจ รู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องต่อสู้กับความคิดร้ายๆเพียงลำพัง เมื่อเป็นติดต่อกันเป็นเวลายาวนานอาจเป็นสาเหตุของโรคจิตเวชได้

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder หรือ GAD) เกิดจากความเครียดและความวิตกกังวลที่รุนแรงมากกว่าปกติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้คิดฟุ้งซ่านหรือกลัวว่าอาจจะเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้นจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานได้ตามปกติ เนื่องจากขาดสมาธิ มีความหวาดระแวงและตื่นตกใจง่ายมีปัญหาเรื่องความอยากอาหารหรือการนอนหลับ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ระบบภูมิต้านทานอ่อนแอลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆตามมา

แนวทางลดความคิดมากตามจิตแพทย์แนะนำ

  • หมั่นตรวจสอบความคิด  การเป็นคนคิดมากไม่ได้หมายความถึงการคิดอะไรเรื่อยเปื่อยโดยไม่รู้ตัว ตรงกันข้ามโดยมากรู้ตัวว่ากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ เพียงแต่ไม่สามารถควบคุมหรือปลดปล่อยตัวเองให้ออกจากพันธการความคิดในเรื่องนั้นได้ การตระหนักว่าตัวเองกำลังคิดถึงสิ่งใดเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เราสามารถค้นหาและตรวจสอบความคิดเพื่อชี้ชัดถึงที่มาที่ไปและแสวงหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม

  • มุ่งตรงสู่ปัญหา จุดอ่อนสำคัญของคนคิดมากคือ เอาแต่คิดถึงปัญหาแต่ไม่คิดถึงวิธีแก้ปัญหา การหยุดอยู่ที่ความคิดใดความคิดหนึ่งไม่เกิดประโยชน์มากเท่ากับการเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องในอดีตได้แต่เราทำสิ่งที่ดีกว่าได้ในปัจจุบันความพร้อมที่จะเผชิญหน้าและตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาจะช่วยให้เราออกจากความกลัวและความกังวลใจได้

  • ยอมรับความเป็นไป การมองโลกในแง่ดีเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ความตั้งใจแก้ไขปัญหาถือเป็นสิ่งดี ขณะที่การยอมรับความเป็นไปทั้งก่อนและหลังจากความพยายามในการแก้ไขสิ่งต่างๆนั้นเท่ากับเป็นการเคารพและยอมรับนับถือในตัวเอง เมื่อเราทำสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่แล้วไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจหรือติดอยู่ในใจจนต้องเก็บมาคิดมากอีกต่อไป

  • บริหารสมองอยู่เสมอ การยอมรับความเป็นไปและมุ่งแก้ไขปัญหานั้นอาจฟังดูง่ายแต่นับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากสำหรับหลายคน ตัวช่วยที่ดีคือ การบริหารสมองด้วยการท้าทายความคิดและฝึกฝนการใช้ความจำ ทำได้โดยการค้นหาความสนใจไปยังเรื่องใหม่ๆ ให้เวลากับการคิดและลงมือทำสิ่งใหม่ๆเสมอตลอดจนหาเวลาในการเดินทาง ทำกิจกรรมและพบปะผู้คนเพื่อสร้างการจดจำในสิ่งที่ดีเข้ามาแทนที่

  • บอกเล่าความเจ็บปวด  บ่อยครั้งที่การต่อสู้กับความคิดตัวเองเพียงลำพังมีแนวโน้มที่จะไม่สำเร็จ การอาศัยเพื่อนที่รู้ใจสามารถช่วยแบ่งเบาความอึดอัดคับข้องใจที่เก็บไว้ในสมองได้ไม่มากก็น้อย เพื่อนที่รู้ใจในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงสัตว์เลี้ยงที่รัก หรือสมุดบันทึกคู่ใจ ที่จะช่วยรับฟังเรื่องราวที่ไม่สบายใจและคอยเป็นกำลังใจให้กับเราได้เพียงแค่หันไปมอง

    การเป็นคนคิดมากแม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครๆก็เป็นกันได้ แต่ก็ไม่ควรละเลยจนทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและใจ เลี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวชต่างๆ ที่อาจทำให้รักษายากมากกว่าเดิม หมั่นสังเกตสภาพจิตใจตัวเองด้วยนะคะ

    ขอบคุณข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต

    ภาพจาก :Freepik





    เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

    0 ความคิดเห็น