วิธีเยียวยาหัวใจหลัง “อกหัก” ก่อนเกิดภาวะหัวใจสลายอันตรายถึงชีวิต


วิธีเยียวยาหัวใจหลัง “อกหัก” ก่อนเกิดภาวะหัวใจสลายอันตรายถึงชีวิต

อกหักไม่ใช่เรื่องเล็ก!หากปล่อยให้ความเศร้าโศกเสียใจกลืนกินเราเป็นเวลานานๆ ในหลายๆรูปแบบ ทั้งสายกิน สายเมา สายร้องไห้ เสี่ยงเกิดภาวะหัวใจสลายถึงตายได้


เคยสงสัยหรือไม่ว่าเวลาที่เราเศร้าจากความรัก หรือคนที่เรารู้จักกันอยู่ในสถานะ “คนอกหัก”  นึกถึงทรงจำในช่วงเวลาที่ผ่านมาทีไรต้องรู้สึกแจ็บแปล๊บที่หัวใจ แต่ทำไมแค่ความรู้สึกถึงทำให้เราเจ็บจริงๆ ได้ สาเหตุนั้นคืออะไร ทีมข่าวนิวมีเดียพีพีทีวีได้รวบรวมมาให้ดังนี้

 

“อกหัก” ใครว่าไม่ถึงตาย

ภาวะหัวใจสลาย หรือภาวะอกหัก (Broken Heart Syndrome) คือ การที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ จากการที่เราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความเครียดกะทันหัน

หรือภาวะที่เราถูกบีบคั้นทางอารมณ์อย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียคนรัก หรือการหย่าร้าง โดยมีอาการดังนี้

  • แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
  • หอบเหนื่อย
  • หายใจลำบาก
  • หน้ามืด
  • ความดันเลือดต่ำ

ซึ่งโรคหัวใจสลายนั้นเกิดจากการที่กล้ามเนื้อของหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลง ส่วนใหญ่มักมีอาการกะทันหันชั่วคราว อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตามเรายังไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน แต่มีหลักฐานที่ชี้ว่าผู้ป่วยนั้นมีการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด ในระดับที่สูงมากอย่างฉับพลัน ทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัวหัวใจเต้นเร็งผิดจังหวะ จึงเป็นที่มาที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวได้น้อยลง

 

อกหักเสี่ยงโรค

อาการอกหักมักทำให้เสียใจและผิดหวัง ส่งผลให้เกิดความเสียใจ แต่จะเสียใจนานแค่ไหนหรือมีพฤติกรรมหลังอกหักอย่างไร  ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน ดังนั้นอกหักสายไหนเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่ากัน

อกหักสายกิน

สายบรรเทาความเครียดหรือความผิดหวังด้วยการกิน ทั้งของที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ แม้อาการช่วงแรกที่มีผลมาจากความเครียดจะทำให้เรากินอะไรไม่ค่อยลง หลังจากนั้นไม่นาน เราจะเริ่มมีอาการอยากกิน จนกลายเป็นคนกินจุ และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามมาได้

นั่นเพราะเมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด “คอรติซอล” ให้สูงขึ้น ส่งผลให้ระดับอินซูลินสูงขึ้นตาม ร่างกายของเราจึงอยากของหวานมากขึ้น

นอกจากนี้ ในรายที่นอนดึก นอนไม่หลับ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนความหิวอย่าง “เกรลิน” ออกมามากผิดปกติ ทำให้เราอยากทานน้ำตาล อาหารไขมันสูง หรืออาหารรสเค็ม มากเป็นพิเศษ

ดังนั้นหากเราไม่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายอาจเสี่ยงเป็น “โรคอ้วน” ตามมาได้ และเมื่อมีภาวะอ้วน อาจทำให้เกิดการอักเสบซ่อนเร้น โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจตามมาได้อีก

อกหักสายเมา

สายนี้ถ้าอกหัก มักจะรีบโทรหาเพื่อนเพื่อชวนดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม ออกฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นประสาทที่ควบคุมความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งหากดื่มเข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้มีอาการง่วงซึม หรือขาดสติได้  แต่หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ จะทำให้สนุกสนานอารมณ์ดี

จะเห็นได้ว่าหากดื่มแต่พองาน แอลกอฮอล์ก็มีประโยชน์ต่อหัวใจอยู่บ้าง โดยจากการวิจัยของวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (Harvard T.H. Chan School of Public Health) ให้ข้อมูลว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวัน ในปริมาณปานกลางเป็นประจำ หรือประมาณ 2 แก้วในผู้ชายและ 1 แก้วในผู้หญิง จะมีอัตราการรอดชีวิตจากหัวโรคหัวใจมากกว่าผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ 25-40% เพราะการดื่มแบบปานกลางนี้ช่วยเพิ่มระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) หรือไขมันดี ได้

อย่างไรก็ตามไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณ​สูงติดต่อกันนานๆ เพราะจะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดข้นเหนียวขึ้น จับตัวกันเป็นลิ่มและอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะที่หัวใจและสมอง นอกจากนี้ ยังทำให้ระดับเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL) หรือไขมันดีในเลือดลดต่ำลงด้วย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคตับอ่อนอักเสบได้

อกหักสายร้องไห้

สายนี้จะมีอาการเสียใจรุนแรง ร้องไห้หนักมากร้องข้ามวันข้ามคืน บางคนเสียใจไปหลายเดือน สายนี้หากปล่อยไว้นานจนเกินไปจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจสลายมากกว่าสายอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยตรง

อกหักสายไม่เคยว่าง

สายนี้ แม้จะมีอาการเสียใจ แต่มักจะหาใครมาแทนที่ได้ทันที เพราะสายนี้จะมีอาการเหงาหรือฟุ้งซ่านตลอดเวลา บางรายจะไปเที่ยวตามสถานบันเทิง หรือเล่นแอปพลิเคชันหาคู่ เพื่อหาเพื่อนคุยแก้เหงาหรือมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด จนกว่าจะทำใจได้หรือจนกว่าจะลืมคนๆ นั้นไปได้สายนี้แม้จะไม่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ แต่หลายรายติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากไม่ได้ป้องกันและมีคู่นอนหลายคน จึงควรระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย

อกหัก สายชิลล์

สายนี้ใช้วิธีบรรเทาความเสียใจด้วยการเข้าวัด ฟังธรรม หรือมีเพื่อนคอยเตือนสติจนมองปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่งและใช้สติตกผลึกปัญหาจนผ่านไปได้อย่างเข้มแข็ง บางรายมีประสบการณ์อกหักมาหลายครั้ง สุดท้ายเมื่อตั้งสติและเรียนรู้จากอดีต จะค่อยๆ เห็นตัวเอง ปลอบใจตัวเอง ยอมรับความจริง ไม่โกรธ จนในที่สุดก็

การเยียวยาแผลใจ

อาการอกหัก มักทำให้เสียใจและผิดหวัง หากเราไม่รีบฟื้นตัวและไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจเกิดภาวะหัวใจสลาย อันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการลดความเครียดคือทางออกที่ดีที่สุด สามารถทำได้ดังนี้

  • พยายามวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้เราเครียด และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้น
  • ตัดใจ และปล่อยวาง
  • หมั่นออกกำลังกายบ่อยๆ ลดอาการฟุ้งซ่าน (ควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน)
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มกระตุ้นประสาท
  • พบปะเพื่อนฝูงบ้าง เพื่อพูดคุย และระบายปัญหาต่างๆ
  • จัดการสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ เช่น จัดบ้าน หรือโต๊ะทำงานให้ผ่อนคลาย ปลูกต้นไม้เล็กๆ หรือแจกันดอกไม้สร้างความสดชื่น
  • ดูภาพยนตร์และอ่านหนังสือตลกๆ สนุกสนาน
  • ไม่ปิดกั้นใจกับความรักครั้งใหม่ เพราะวันใดวันหนึ่งคุณอาจได้เจอคนใหม่ที่ดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ และ โรงพยาบาลสมิติเวช

ภาพจาก :Freepik




เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น